สวัสดีค่า วันก่อนได้นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องของ ต้นแก้วสารพัดนึกหรือแก้วหน้าม้ากันไปแล้ววันนี้จึงขอนำเสนอต้นบอนดําสตูลเครือญาติหรือต้นไม้ที่อยู่ในวงศ์เดียวกันมาแนะนำเพื่อนๆ ที่ชอบไม้ใบที่มีลักษณะใบคล้ายๆ กันมาฝากเพื่อนๆ ค่ะ

เรามาทำความรู้จักกับบอนดำสตูลกันค่ะว่ามีความน่าสนใจอะไรบ้าง ราคา และวิธีการดูแลบอนสตูลกันค่ะ

ต้นบอนดําสตูล
ภาพต้นบอนดําสตูลปลูกกับต้นไม้ชนิดต่างๆ ภายในสวนบริเวณบ้าน

บอนดำสตูล Alocasia black satun จัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุหลายปี บอนสตูลพบมากในป่าดิบชื้น ในทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย ชอบพื้นที่ที่มีแสงรำไรแบบในป่าดิบชื้น ถ้าโดนแสงแดดแรงๆใบจะไหม้ ขึ้นตามซอกหินตามภูเขาหินปูน ไม่ชอบน้ำขัง บอนดำสตูลพบมากที่สุดคือตามชื่อเลยค่ะ พบมากที่จังหวัดสตูล บอนดำเป็นพืชในวงศ์ Araceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกันกับ แก้วหน้าม้า แก้วสารพัดนึก นางกวัก ดอกหน้าวัว สกุล Alocasia เช่นเดียวกับ บอนสี โดยมี 70 – 90 สปีชีส์

บอนดำสตูลกระดูกสีชมพู หรือ บอนดำสตูลก้านชมพู

บอนดําสตูลก้านชมพู
บอนดําสตูลก้านชมพู หรือ บอนดําสตูลกระดูกชมพูสีสันสวยงามมากๆ เลยนะคะ

คือบอนดำสตูลที่มีสีใบหรือสายลายเป็นสีชมพู โดยพันธุ์ปกติ จะให้สีชมพูตอนงอกใหม่ประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็จะมีสีเหมือนบอนดำธรรมดาที่มีกระดูกเป็นสีเขียวหรือขาว แต่ยังมีอีกแบบคือ บอนดำสตูลกระดูกสีชมพู(แจ่ม) ที่ค่อนข้างให้สีชมพูนาน แม้ใบจะเริ่มแก่เล็กน้อย โดยมีสีชมพูนานประมาณ 1 เดือน หรืออาจเปลี่ยนสีตามสภาพอากาศ
วิธีสังเกตว่าเป็นบอนดำกระดูกชมพูหรือไม่กรณีที่ใบแก่แล้ว ให้ลองส่องไฟฉายดู

ลักษณะใบบอนดำสตูล มีหลายลักษณะ เช่น

  • ใบกลม คางมน หูชิด ซึ่งราคาจะไม่ค่อยแพง
  • ใบกลมรูปหัวใจ หูห่าง ซึ่งถือว่าเป็นพันธุ์บอนดำสตูลแท้ หรือเรียกว่าหน้าสตูลแท้
  • ใบกลมรูปหัวใจ หูชิด ลักษณะใบจะใหญ่มากจะพบได้แถวๆจังหวัดพัทลุง
  • ใบหูชิดเหมือนหูกระต่าย คล้ายต้นแก้วหน้าม้า ซึ่งจะมีราคาสูงขึ้นมาหน่อย
  • ใบลักษณะเหมือนครีบปลาหมึก
  • หน้ายับ
  • หน้าดำ
  • หน้าเขียวกระดูกเหลือง
  • หน้าเขียวเหมือนแก้วหน้าม้าและมีกระดูกชมพู ราคาจะแพงขึ้นมาหน่อย
บอนสตูลดำ
ลวดลายใบของบอนดำสตูล ซูมแบบใกล้ๆ

ลายของใบบอนดำสตูล

  • กระดูกชมพู ลายขนนก
  • บอนดำสตูล ลายสายรุ้ง ลายเส้นใยแมงมุม ลายหินอ่อน
  • บอนดำสตูล ลายสายรุ้งแต่ลักษณะเหมือนลายก้างปลา

ราคา บอนดำสตูล บอนดำสตูลกระดูกชมพู และ บอนดำสตูลกระดูกชมพู(แจ่ม)

  • ราคาขาย อยู่ที่ ใบละ 300 – 500 บาทกรณีที่เป็นใบธรรมดาไม่มีลวดลาย
  • ราคาขายบอนดำกระดูกชมพู ถ้าเป็นลักษณะเหมือนแก้วหน้าม้า และมีความชมพู ศัพท์ในวงการเรียกว่า ชมพู(แจ่ม) ราคาจะอยู่ที่ ใบละประมาณ 2,500 บาท
  • ถ้าเป็นแก้วหน้าม้า หน้าดำ ใบหยัก คางยาง กระดูกชมพู(แจ่ม) ใบละ 3,500 บาท
  • มีลาย ราคาก็ขึ้นมาอีก เช่น ถ้าใบเป็นลายสายรุ้งและมีความชมพู บอนดำสตูล ก็จะถูกขายอยู่ที่ใบละ 1,500 – 2,000 บาทเลยทีเดียว
บอนดําสตูลราคา
บอนดําสตูลเป็นต้นไม้ที่มีราคาหลากหลายให้เลือกซื้อ

วิธีการปลูกและการดูแลบอนดำสตูล

กรณีได้เป็นหัวหรือเหง้า ให้วางไว้ในภาชนะ หรือกาละมังเก็บไว้ในที่ร่ม ประมาณ 1 เดือน รอจนหัวงอกออกมา ค่อยนำไปฝังดิน ถ้านำไปฝังดินก่อนที่จะมีหัวงอกออกมา หัวหรือเเหง้ามันอาจจะเปื่อย
กรณีได้มาเป็นหัวที่งอกใหม่เป็นก้านสดแล้ว ให้เรานำมาลอกเปือก เพราะมันจะเปื่อยหมดให้เหลือก้านสดเล็กๆก็พอ และนำมาล้างให้สะอาด และก้านสดใหม่ๆจะงอกออกมาที่ตาของมัน
แล้วนำไปวางไว้ในกาละมังประมาณ 1 เดือนตั้งไว้ที่ร่มนะคะ เดี๋ยวมันจะแตกหัวออกมาเองค่ะ

ส่วนผสมของดินปลูกบอนดำสตูล

  • กากมะพร้าว 1 ส่วน
  • มูลสัตว์ที่ย่อยสลายนานแล้วเป็นปี 1 ส่วน เหตุที่ใช้มูลสัตว์ที่ย่อยสลายนานเป็นปี เพราะไม่ก่อให้เกิดรา
  • เศษใบไม้ซากพืช 1 ส่วน แกลบเก่า 1 ส่วน นำมาคลุกเคล้า

วิธีการปลูกบอนดำสตูลลงกระถาง

นำถ่านรองที่ก้นกระถางเพื่อช่วยให้ระบายน้ำได้ดี และน้ำไม่ขังจากนั้นนำส่วนผสมดินมาใส่กระถาง จากนั้นนำหน่อที่เราตั้งพักไว้ 1 เดือน มาปลูกลงกระถาง
โดยอย่าฝังหน่อให้ลึกเกินไป ควรให้หน่อยโผล่ไว้ซักครึ่งนึง และวางไว้ในที่ร่ม

บอนสตูล
บอนดำสตูลที่ปลูกไว้หน้าบ้าน

การรดน้ำการให้น้ำบอนดำสตูล

รดน้ำสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง อย่ารดน้ำมากเกินไปเพราะบอนดำสตูลไม่ชอบน้ำมากอาจทำให้ ใบเปื่อย เน่า ได้

สรุปความน่าสนใจของต้นบอนดำสตูล

บอนดําสตูลเป็นต้นไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีความสวยงามโดดเด่นเฉพาะตัว ใบมีสีเข้มดูสวยงามเหมาะที่จะปลูกตกแต่งไว้รอบๆ บ้านหรือปลูกรวมกันต้นไม้ชนิดอื่นๆ ก็ดูสวยงามไม่น้อย อีกทั้งยังดูแลไม่ยากและยังช่วยฟอกอากาศทำให้ให้ความสดชื่นแก่คนปลูกและคนผ่านมาพบเจอเจ้าบอนดำสตูลค่ะ

สุดท้ายนี้ขอฝากให้เพื่อนๆ ลองหาต้นบอนดำสตูลมาปลูกกันนะคะรับรองต้องเป็นต้นไม้ที่สวยถูกใจเพื่อนๆ แน่นอนแถมเจ้าบอนดำสตูลยังดูแลง่ายเหมาะแก่คนที่สนใจในการเริ่มปลูกต้นไม้มากๆ เลยค่ะ ไว้คราวหน้าแอดมินจะมานำต้นไม้ต่างๆ ที่น่าสนใจให้รับชมกันอีกนะคะ บายๆ ทุกคนแล้วเจอกันใหม่จ้า

อ่านต่อ